igoodmedia.net
HOME | AUTHOR | PRODUCTION | COMMUNICATION ARTS | MY BLOG |


Blog dFilm school

My Media channel

blog

1 หน้าแรก
2
บทความ
หนังสือเล่ม
ร้อยกรอง เพลง
3
บทภาพยนตร์
ภาพยนตร์สั้น
วีดิโอ มิวสิควีดิโอ
4
วิชาเรียนนิเทศศาสตร์
ตำราเอกสาร
สื่อการเรียน
 

 

 


 ภาพยนตร์: ทุกเรื่อง ติดตามชมได้ที่นี่
ทุกเรื่อง ดูที่นี่ -- คลิก
ติดตามช่อง YouTube: /sudin igood media

เขียนบทภาพยนตร์ เริ่มต้นอย่างไร

ผู้เขียน: สู่ดิน ชาวหินฟ้า โทร.08–9644–1048

เริ่มจะทำหนังสักเรื่อง ต้องเริ่มที่ บท ก่อน

องค์ประกอบ 6 ประการ ของ บท คือ

1. ต้องมีเรื่อง (story) เรื่อง จะบ่งบอกว่า เป็นเรื่องราวประเภท (genre) ใด เช่น ชีวิต ผจญภัย ผี ฆาตกรรม สืบสวนสอบสวน เป็นต้น และ เรื่องที่จะเล่า จะต้องมีแก่นหลัก (theme) ของมัน ว่าเกี่ยวกับอะไร ใคร ที่ไหน อย่างไร โดยจะปรากฏในรูปของ ประโยคหลัก (premise) ที่ผู้เล่าจะต้องสร้างขึ้น เช่น อะไรเกิดขึ้น เมื่อ ภรรยา ฆ่า สามีของตน ด้วยความเข้าใจผิด ...

2. ต้องมีพล็อตเรื่อง (plot) ว่า ใคร (ตัวละคร) มีความปรารถนาอะไร และมีอะไรเป็นอุปสรรค แล้วเขาจะแก้ปัญหา หรือ อุปสรรคเหล่านั้นอย่างไร จุดจบ เขาได้รับผลอย่างไร ได้ หรือ เสีย หรือได้อย่างเสียอีกอย่าง การวางพล็อตเรื่อง จะทำขึ้นเมื่อได้ story เรียบร้อยแล้ว

3. ต้องมีฉาก เหตุการณ์ (scene) ว่าเรื่องราวที่พล็อตขึ้น เกิดขึ้นที่ไหน (ภายใน หรือ ภายนอก) เวลาอะไร (กลางวัน กลางคืน) และ มีอะไรที่จำเป็น และ สำคัญ ในกรอบภาพ (vision) ที่ต้องการให้คนดูเห็น ฉากที่ดีต้อง สมจริง และ อลังการ

4. ต้องมีตัวละคร (charactor) ซึ่งอาจจะเป็น คน สัตว์ พืช หุ่นยนต์ ผี วิญญาณ หรือ สิ่งของอย่างใดก็ได้ ซึ่ง ตัวละครทุกตัว โดยเฉพาะตัวหลัก จะต้องสร้าง ความปรารถให้เขา (need) พร้อมกับ อุปสรรค เพราะปัญหาและอุปสรรค จะช่วย "ผลัก" ให้เรื่องราวดำเนินไป ปัญหาที่ใส่เข้าไป ควรให้มีความรุนแรงจากเบาไปหนัก อย่างน้อย 2-3 ระดับ จนกระทั่งถึง ระดับเหตุการณ์สูงสุด (climax)

ตัวละคร อาจมีการแบ่ง ตามสถานภาพของเรื่องก็ได้ เช่น พระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวตลก หรือจะแบ่งตามความสำคัญ ก็ได้ เช่น ตัวหลัก ตัวประกอบ ตัวประกอบฉาก

คุณสร้างตัวละคร ก็เหมือนคุณเป็น พระเจ้า สร้างมนุษย์ ขึ้นมาบนโลกนั่นแหละครับ เพียงแต่เป็นโลกในจอภาพสี่เหลี่ยม ดังนั้น ทุกอย่างที่สร้างขึ้นต้องสมจริง แม้จะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ (science fiction) จินตนาการ (fantasy) ก็ตาม ต้องสมจริงเช่นกัน

5. ตัวละคร ต้องมีแอ็คชั่น (action) เพราะแอ็คชั่น จะช่วยเพิ่มรสชาติให้แก่ภาพยนตร์ แอ็คชั่นจะบ่งบอกอุปนิสัยของตัวละคร บ่งบอกสถานะความรุนแรงหนักเบาของเหตุการณ์

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับ แอ็คชั่น ก็คือ จังหวะ (rhythm) ลีลา (beat) และ ความเร็ว (tempo) ถ้าจัดท่วงทา พื้นที่ ระยะ เวลา อัตรา ให้เหมาะสม ไม่เร็วเกินไป ไม่ห่างเกินไป ไม่แน่นเกินไป ไม่เบาเกินหรือหนักเกินไป ก็จะทำให้บุคลิกของตัวละคร สมจริง ภาพยนตร์ แตกต่างจากละครตรงที่ "ความสมจริง"

6. ต้องมีบทสนทนา (dialogue) เพราะบทสนทนา จะเป็นตัวบ่งบอก (1) ประวัติ สถานภาพ ที่มาของตัวละคร (2) บอกเหตุการณ์ความเป็นมา เป็นไปของเรื่องราว (3) อธิบายความคิด ความรู้สึก ของตัวละคร (4) ช่วยให้คนดู เข้าใกล้ตัวตัวละครมากยิ่งขึ้น

แต่งอย่างไรก็ตาม มีภาพยนตร์หลายเรื่อง ที่ไม่จำเป็นต้องใช้บทสนทนาก็ได้ เพราะผู้สร้างต้องการเช่นนั้น โดยใช้ บทแอ็คชั้น แทนคำพูด

แต่สิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับบทสนทนา คือ อย่าพูดในสิ่งที่เป็น แอ็คชั่นของตัวละคร

และเมื่อทราบองค์ประกอบของ บทภาพยนตร์แล้ว ต่อไปก็ลงมือร่าง อาจตามลำดับ ขั้นตอนต่อไปนี้ก็ได้ ผม ใช้สูตรนี้เป็นประจำ เวลาเขียนบท

1. กำหนด theme 2. สร้างประโยคหลัก หรือ premise และ บอก ประเภทของเรื่อง (เพื่อสร้างเรื่องราว)

3. เรื่องย่อ (synopsis) และ 4. โครงสร้างการดำเนินเรื่อง (เพื่อวางลำดับ เหตุการณ์เรื่องราว จาก องค์ 1 เปิดเผยตัวละคร แล้วสร้างจุดหักเห เพื่อให้เข้าสู่ องค์ 2 การดำเนินเรื่อง ซึ่ง ตัวละคร จะต้องเผชิญกับ ปัญหา อุปสรรค และต่อสู้กับมัน ปัญหา จะเข้มข้นไปเป็นลำดับ (อย่างน้อย 3 ระดับ) จนเกิดจุดหักเหไปสู่ จุดสูงสุด (climax) ของเรื่อง จากนั้น ก็จะสร้างคำตอบ ในองค์ 3 ว่าเรื่องราวจะจบอย่างไร ได้ หรือ เสีย หรือ ได้อะไร เสียอะไร

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียง บทโครงร่าง (outline story) เท่านั้น ยังไม่เป็นบทภาพยนตร์เลย

ขั้นต่อไป ก็ลงมือ เขียนบทภาพยนตร์ตัวจริง ที่เรียกว่า บทแสดง หรือ screenplay (หน้าที่ของผู้เขียนบทจะจบลงตรงที่ บท screenplay)

การเขียนบท screenplay ผู้เขียนจะนำเอา ข้อ 4. โครงสร้างการดำเนินเรื่อง ที่เป็น องค์ 1-2-3 มาเขียน

รูปแบบของบทภาพยนตร์ ที่ผมใช้ประจำ คือ รูปแบบสากล ที่ใช้กันทั่วในการเขียนบทภาพยนตร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ฉาก: ภายนอก/ภายใน กลางวัน/กลางคืน ชื่อตัวละคร

บรรยายฉาก (บรรยาย สิ่งที่เห็น หรือ vision มิใช่ image จึงไม่ต้องบอกมุมกล้อง แต่บอกสิ่งที่เห็น)

บรรยาย แอ็คชั่นของตัวละคร อาจบรรยายไปพร้อมกับ บรรยายฉาก ก็ได้

บทสนทนา ใส่บทพูดลงไป เท่าที่จำเป็น (อย่าลืม อย่าพูดในสิ่งที่เป็น แอคชั่น เช่น กำลังยกเท้าถีบ แต่มีบทพูดว่า "กูจะถีบมึง ให้หน้าหงาย" บทพูดนี้ ไม่จำเป็นเลย)

ถ้าจำเป็น จะบอกแอ็คชั้น ในบทพูด ก็ใส่ลงไปได้ โดยวงเล็บไว้ ก่อนบทพูด เช่น

โฉมฉาย:
(ผงกหัว 3 ครั้ง)
ถ้าฉันทำอย่างนี้ เธอต้องรีบวิ่งออกไปจากที่นั่น

ตรง (ผงกหัว 3 ครั้ง) เขาเรียกว่า บทกำกับการแสดง มีไว้สำหรับ ผู้กำกับ ครับ

ผมมีตัวอย่างแบบฟอร์ม สำหรับเขียนครับ ที่ผมใช้อยู่ ดูมันลงตัวดีแล้ว ท่านใดจะนำไปใช้ ก็ยินดีครับ

ข้อ 1.-2. สำหรับ คนเขียนบท
ข้อ 3.-8. สำหรับ ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับ และทีมงานสร้าง ทุกคนทุกตำแหน่ง

1. บทโครงร่าง (outline)
2. บทภาพยนตร์ หรือ บทแสดง (screenplay)
3. บทถ่ายทำ ประกอบด้วย shoting script, storyboard, blocking
4. บทภาพ (storyboard)
5. บัญชีรายการ วัสดุ อุปกรณ์ ประกอบฉาก (prob-set)
6. บัญชีรายการ เสื้อผ้า หน้าผม นักแสดง (wardrobe & makeup)
7. ลำดับตำแหน่งงานสร้างภาพยนตร์ (production team)
8. เกณฑ์ประเมิน คุณลักษณะ-คุณภาพ ของภาพยนตร์ ที่สร้าง

ส่วนท่านใดต้องการดู บทที่สมบูรณ์ ตั้งแต่ข้อ 1. - 8. พร้อมสร้าง ให้ดูเรื่อง แค้น คลั่ง หลอน ติดต่อโดยตรงได้ที่ผมครับ.

จบแล้ว สำหรับ การเขียนบท

จากนั้น ถ้าจะสร้างกันจริงๆ ผู้กำกับ จะต้อง เอาบทแสดง (screenplay) ไปเขียนใหม่ เรียกว่าว่า บทสร้าง (shooting) ซึ่งยุ่งยากกว่าบทแสดงหลายเท่า ผมมีตัวอย่างให้ศึกษา ขั้นตอน แบบในการเขียน จากภาพยนตร์เรื่อง แค้น คลั่ง หลอน ครับ ซึ่งมีพร้อมทุกบท ทุกประเภท พร้อมที่จะประชุมกองถ่ายทำ และลงมือสร้างได้ทันที

ดูตัวอย่างบท outline story และ บท screenplay ได้ที่ http://www.igoodmedia.net คลิกเมนู production

ยินดีกับนักสร้างหน้าใหม่ ครับ.

ปล. ผมแนบ แมป การพล็อตเรื่องล่าสุดมาให้ครับ ที่ใช้ location เดียว ตลอดทั้งเรื่อง แต่ยังคงไว้ซึ่ง องค์ 1-2-3 มันดูคล้ายๆ ละครเวที แต่ไม่ใช่ครับ ขึ้นอยู่กับผู้กำกับงานสร้างครับ ส่วนชื่อเรื่อง ผมยังไม่ได้ตั้งครับ เพิ่งคิดได้เมื่อคืนนี้.

สำหรับ theme ที่เป็นการเมือง ก็อาจทำได้ไม่ยากครับ เพียงแต่คุณ เปลี่ยนสถานที่จาก ป้ายรถเมล์ เป็น ร้านกาแฟ องกง ก็ได้ สามารถใส่ตัวละครได้เยอะ ตรงกับนโยบายของอาจารย์ผู้สอน ที่ทุกคนจะได้เข้าร่วมแสดงในเฟรม.

------------------------------------------------

สำหรับความเข้าใจเรื่อง ช็อทภาพ คือ

เวลาเขียนบท แต่ละช็อท คุณต้องมองช็อทนั้นๆ ให้เป็น image หรือ imagine (จินตนาการ) เพราะคุณอยู่ในฐานะผู้ส่งสาร (sender) แต่พอคุณต้องการจะให้ผู้ชมเห็น ในสิ่งที่เป็น image คุณจะต้องทำช็อทนั้น ให้เป็น vision (สิ่งที่เห็น) ที่ปรากฏในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยสิ่งที่เห็น อาจไม่จำเป็นต้องเห็นพร้อมกันทั้งหมด เหมือนใน image ที่คุณวาดไว้ในสมอง เพราะสิ่งที่คนดู "เห็น" มันมีปัจจัยหลายเรื่องมาเกี่ยวข้อง คือ มุมที่มองอาจแคบหรือกว้าง ระยะไกล้ไกล วัตถุที่เคลื่อนไหว แสงสว่าง และ สิ่งที่อาจมาบดบัง ดังนั้น สิ่งที่เห็นจึงมีลำดับของมัน นั่นคือ ที่มาของคำว่า ช็อท (shot)

 

 
  thinking focus new idea today
บทความ เวทีความคิด แสดงความคิดเห็น
 


igood media copyright
 
SUDIN CHAOHINFA, igoodmedia.net : Administration and Producer
Copyright © 2010-2016 intelligence good media homeschool.
All rights reserved. me@igoodmedia.net